โครงการจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก
การผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Products)
โครงการจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก
หลักการและเหตุผล
ผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วโลกไม่อาจมองข้ามประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ แม้ผู้บริโภคในประเทศไทยอาจยังไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าและบริการจากองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งตลาดในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ประเทศต่างๆ เหล่านี้ ได้กำหนดมาตรการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีทั้งมาตรการบังคับและมาตรการสมัครใจ เช่น การห้ามนำเข้าหรือจำกัดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การติดฉลากสิ่งแวดล้อม และการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ด้วยปัจจัยผลักดันทางการตลาดดังกล่าวกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่Green Supply Chain เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดการค้าโลก โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กร ด้วยหลักการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain Logistics Management, G-SCLM) ซึ่งเกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานกับองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการประกอบการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดโซ่อุปทาน
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ได้จัดทำ“โครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก” มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานและทรัพยากรการผลิต และการขนส่ง ตลอดจนการลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมถึงการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ผลจากการดำเนินโครงการฯ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากให้ความสำคัญและสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ดังนั้น สำนักโลจิสติกส์ จึงได้ดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2557 เพื่อขยายผลการให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงการจัดการโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product, CFP) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization, CFO) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อม กรณีภาครัฐมีความจำเป็นต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรต่างๆ สำหรับเป็นแนวทางการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2557 คือ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมข้าวและข้าวแปรรูป อุตสาหกรรมมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูป และอุตสาหกรรมผลไม้อบแห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มของอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy food) และอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic food) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าของ AEC ในสินค้าเกษตร 23 รายการภายในปี 2558 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมจัดทำคารบอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
2. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น Green Supply Chain
3. เพื่อจัดทำและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเป้าหมาย
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
ขอบเขตการดำเนินงาน
1. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการและเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้พัฒนาขึ้นในปีงบประมาณ 2556 และศึกษาวิธีการคำนวณต้นทุนที่ประหยัดได้(Cost Savings) จากการปรับปรุงกระบวนการผลิต กระบวนการขนส่ง การใช้ทรัพยากรการผลิต และอื่นๆ ขององค์กรหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น US Environmental Protection Agency (US EPA) และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย
2. คัดเลือกสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย พร้อมทั้งจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และที่ปรึกษาโครงการฯ ในการให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน
3. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จำนวน 60 ราย เรื่องการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain Logistics Management, G-SCLM) และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product, CFP) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization, CFO)
4. เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ ตลอดโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และดำเนินการยื่นขอการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับสถานประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินการยื่นขอการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ 5 ราย และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร 3 ราย
ประโยชน์ที่จะได้รับ
- ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ของสถานประกอบการลดลงจากการปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
- บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ภาครัฐมีข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
27 พ.ค. 2557 ถึง 22 ธ.ค. 2557
ผู้ดำเนินการโครงการ
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หน่วยงานสนับสนุนโครงการ / งบประมาณ
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม
–