การผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Products)

โครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก (อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง)

หลักการและเหตุผล

จากภาวะความตื่นตัวในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตและการขนส่งของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับแผนการดำเนินธุรกิจทั้งจากภายในองค์กร และระหว่างองค์กร โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม การจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain Logistics Management , G-SCLM) คือการบริหารระบบโลจิสติกส์   ในมิติที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาการดำเนินกิจกรรม โลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มาและกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต กระบวนการขนส่งทั้งภายในและภายนอกองค์กร และจัดการตลอดวงจรชีวติของผลิตภัณฑ์ และยังต้องบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทุกกระบวนการตลอดโซ่อุปทาน การลดต้นทุนโลจิสติกส์ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันเวลา มีคุณภาพ และเชื่อถือได้  โดยดำเนินการสำรวจตรวจวัดกิจกรรมของการเคลื่อนไหลของวัสดุและข้อมูลตลอดโซ่อุปทาน การวิเคราห์ปริมาณการใช้พลังงานและน้ำ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) และปริาณของเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน รวมทั้งระบบการขนส่ง และอื่นๆ ที่เกีี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Indicators, EPIs) ขององค์กรและสมาชิกในโซ่อุปทาน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ร่วมกัน สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำ “โครงการจัดทำแนวทางปฎิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก”  สำหรับปีงบประมาณ 2556  ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะทำให้การศึกษาสำรวจข้อมูล และดำเนินการปรับปรุงการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งของรับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการยอมรับสินค้าไทยในตลาดการค้าโลก

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดทำและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรของสถานประกอบการให้มีความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมตลอดโซ่อุปทาน
  3. เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถีงความสำคัญของการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสามารถวิเคราะห์คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์์ได้ด้วยตนเอง

กลุ่มเป้าหมาย

อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, ยา, เยื่อและกระดาษ, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ขอบเขตการดำเนินงาน

  1. ศึกษาแนวทางปฏิบัติและตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลักปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  2. คัดเลือกสถานประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย พร้อมทั้งจัดทำบันทีกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และที่ปรึกษาโครงการฯ ในการให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน
  3. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรของอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหรรมต่อเนื่อง จำนวน 100 ราย เรื่องการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain Logistics Management , G-SCLM) และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์
  4. เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ ตลอดโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และดำเนินการยื่นขอการับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับสถานประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินการยื่นขอการรับรอง 7 ราย

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ของสถานประกอบการลดลงจากการปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
  2. บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. สินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับในตลาดโลกด้านความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

2 พ.ค. 2556 ถึง 29 พ.ย. 2556

ผู้ดำเนินการโครงการ

สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หน่วยงานสนับสนุนโครงการ / งบประมาณ

สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม

เอกสารประกอบการสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก (อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง)”

อัลบั้มภาพ