การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town)

โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โครงการที่ 1

โครงการทวนสอบและประเมินผลเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัด 18 พื้นที่ (สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สงขลา ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี) (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ)

หลักการและเหตุผล

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ  5  มิติ  20 ด้าน 41 ตัวชี้วัด เรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ในการตรวจประเมินระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และได้รับการวางระบบการตรวจประเมินระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตลอดจนกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาใน 15 จังหวัด 18 พื้นที่เป้าหมาย ผ่านเกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับที่ 3 ในปี พ.ศ. 2564 กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงต้องมีการตรวจประเมินระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประจำปี 2562 เพื่อติดตามและประเมินผลการพัฒนาของพื้นที่เป้าหมาย และนำผลการตรวจประเมินมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่จากการดำเนินการทวนสอบในปี พ.ศ.  2561

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตรวจประเมินและเกณฑ์ตัวชี้วัดให้กับผู้เกี่ยวข้องหรือสนใจในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด
  2. เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการตรวจประเมิน ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านการทวนสอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการทวนสอบ
  3. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง คณะทำงานเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  4. เพื่อจัดทำระบบ Digital อำนวยความสะดวกให้คณะทำงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่เพื่อนำส่งข้อมูลไปที่ศูนย์ Eco Center และส่วนกลาง
  5. เพื่อทวนสอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด

กลุ่มเป้าหมาย

ยกระดับและพัฒนาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 20 โรงงาน เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ขอบเขตการดำเนินงาน

จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวนอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 180 คน ระยะเวลาอย่างน้อย 2 วัน

    1. จัดทำและพิมพ์คู่มือการตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 500 เล่ม
    2. ปรับปรุงแก้ไขและพิมพ์ เกณฑ์และตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นปัจจุบัน จำนวน 2,000 เล่ม
    3. จัดฝึกอบรมหลักสูตรหัวหน้าผู้ตรวจประเมิน (Lead auditor) เพื่อยกระดับทักษะการตรวจประเมินให้กับผู้ตรวจประเมิน จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน จำนวน 5 วัน
    4. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจระบบการตรวจประเมินระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวนไม่น้อยกว่า 540 คน จำนวนอย่างน้อย 18 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 1 วัน หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน/ครั้ง/พื้นที่ ณ สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ
    5. จัดทำระบบฐานข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ และปรับปรุงเว็บไซต์ (Web Site) รวมทั้งจัดทำสรุปข้อมูลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในภาพรวมทั้งหมด ในรูปแบบ infographic และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ไม่น้อยกว่า 5 นาที ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบ
    6. ดำเนินการจัดให้มีการทวนสอบฯ ความสอดคล้องตามตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด 18 พื้นที่พื้นที่ละไม่น้อยกว่า 1 วัน/ครั้ง จำนวนผู้ตรวจประเมินไม่น้อยกว่า 3 คน/ครั้ง/วัน ตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจประเมินตามตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
    7. จัดประชุมคณะกรรมการชำนาญการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรับรองผลการตรวจประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง และการประชุมที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 1 ครั้ง จำนวนผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 คน/ครั้ง ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบ
    8. ฝึกอบรมหลักสูตรการใช้งานฐานข้อมูลและดูแลระบบ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน จำนวนอย่างน้อย 1 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 2 วัน
    9. จัดทำสรุปผลการดำเนินการ และมอบรางวัลแก่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ผ่านการตรวจประเมิน จำนวน 1 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 200 คน และจัดทำสรุปผลการตรวจประเมิน พร้อมทั้งจัดทำสรุปผลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการพัฒนาเพื่อยกระดับพื้นที่เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามตัวขี้วัด และเผยแพร่ข้อมูลด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและความก้าวหน้าของพื้นที่เป้าหมาย
  2. เป็นการเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านการตรวจประเมิน รวมถึงคณะทำงานในพื้นที่เป้าหมาย
  3. เพื่อเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเป็นข้อมูลในการรายงานผลเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อตอบนโยบายและแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

กุมภาพันธ์ 2562- ตุลาคม 2562

ผู้ดำเนินการโครงการ

สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หน่วยงานสนับสนุนโครงการ / งบประมาณ

กองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ  กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม

อัลบั้มภาพ