โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 8
ฟุตพริ้นท์ (Footprint)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 8
หลักการและเหตุผล
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการจัดทำคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2560 ทำให้ได้แนวทางการประเมินและระบบทวนสอบคาร์บอน-ฟุตพริ้นท์องค์กรของประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีการพัฒนาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้ทวนสอบด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรตามแนวทางที่ อบก. พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับสนับสนุนการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 อบก. ได้ขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยยกระดับไปสู่การกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคพลังงานในภาคการผลิตไปสู่ความยั่งยืนและส่งผลกระทบในเชิงบวกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อเป็นการขยายผลการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและทำให้การบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบทวนสอบ อบก. จึงได้จัดทำ “โครงการขยายผลการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 8” ขึ้น โดยสนับสนุนให้องค์กรภาคอุตสาหกรรมจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรด้วยการกำหนดเป้าหมาย วิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร (hot spot) กำหนดเป้าหมายและหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาเกณฑ์การรับรองฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระดับองค์กร เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มองค์กรอุตสาหกรรมที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ ดำเนินการตรวจวัดค่าคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์และลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม
วัตถุประสงค์
- เพื่อขยายผลการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม
- จัดให้มีการทวนสอบและรับรองผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรของประเทศ
- เพื่อวิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร (Hot Spot) กำหนดเป้าหมายและหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคอุตสาหกรรม
กลุ่มเป้าหมาย
องค์กรภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะองค์กรภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ขอบเขตการดำเนินงาน
- รับสมัครและคัดเลือกองค์กรนำร่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการฯ ตามเกณฑ์การคัดเลือกที่พัฒนาขึ้นและได้รับความเห็นชอบจาก อบก.จำนวนอย่างน้อย 30 แห่ง
- จัดให้มีทีมสนับสนุนทางเทคนิคและที่ปรึกษาด้านการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน (คณะผู้เชี่ยวชาญคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร)
- คำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ และวิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
- พัฒนาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวิธีการตรวจวัด และส่งเสริมให้องค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางฯ ที่กำหนด
- จัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและรายงานปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ
- จัดให้มีการทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คำนวณได้จากกิจกรรมภายในองค์กร และรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้ ตาม “แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” โดยบุคคลที่ 3 ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานทวนสอบ (Verification Body: VB) กับ อบก. พร้อมแก้ไขให้กระบวนการทวนสอบแล้วเสร็จ
- จัดการประชุมสัมมนากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
7.1 จัดพิธีเปิดโครงการฯ และการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรนำร่องและผู้บริหารจัดการโครงการฯ โดยเชิญหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน 1 ครั้ง โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วม ไม่น้อยกว่า 100 คน และจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 วัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการ การจัดเก็บข้อมูลและแนวปฏิบัติในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรให้แก่องค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ
7.2 จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของโครงการ ประกอบด้วย นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนจาก อบก. เป็นประธานฯ และให้มีการประชุมเป็นระยะเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน
7.3 จัดการประชุมร่วมกับคณะทำงานขององค์กรนำร่องเป็นระยะ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการดำเนินงานที่เหมาะสมกับกลุ่มอุตสาหกรรม
7.4 จัดการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการฯ และประชาสัมพันธ์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 1 ครั้ง โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ไม่น้อยกว่า 200 คน
ผลการดำเนินงาน
สถาบันฯ เป็นที่ปรึกษาและผู้ทวนสอบการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร รวมทั้งได้ดำเนินโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 8 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นองค์กรภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานสูง จำนวน 30 แห่ง พร้อมทั้งนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผลรวมไม่น้อยกว่า 270,000 ton CO2eq
ประโยชน์ที่จะได้รับ
- องค์กรภาคอุตสาหกรรม สามารถคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต
- องค์กรภาคอุตสาหกรรม มีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมระดับประเทศลดลง
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
พฤศจิกายน 2561 – มีนาคม 2562
ผู้ดำเนินการโครงการ
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
หน่วยงานสนับสนุนโครงการ/งบประมาณ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม
–