โครงการการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ : LCA

ฟุตพริ้นท์ (Footprint)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
โครงการการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ : LCA
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม การบริโภคสินค้า และบริการเพื่อสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานและอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ แต่อีกนัยสำคัญหนึ่งผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กอปรกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาการกีดกันทางการค้าทั้งทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีการนำประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขของประเทศ คู่ค้า ซึ่งกฎระเบียบส่วนใหญ่จะนำหลักการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร หรือเรียกว่าการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) มาเป็นเครื่องมือดำเนินการ
การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เป็นวิธีการในการวิเคราะห์ และประเมินปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ ที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ทั้งวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การสกัดหรือ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การใช้ใหม่ / แปรรูป และการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังจากการใช้งาน อาจกล่าวได้ว่าพิจารณาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave) โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึง ของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยจะพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมไปถึงระบบนิเวศสุขอนามัยของชุมชน และปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ทั้งนี้เพื่อนําผลไปใช้ในการกําหนดนโยบายการออกแบบผลิตภัณฑ์ การปรับกระบวนการผลิต หรือเพิ่มทางเลือกในการผลิต เพื่อลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ประกอบการสามารถนําวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการค้าในตลาดการค้าเสรี ตลอดจนการกําหนดนโยบายสินค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ของวัสดุพื้นฐานอุตสาหกรรมของประเทศ (National LCI Database) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คัดเลือก 2 กลุ่ม (รายสาขา)
2. เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรม 2 กลุ่ม (รายสาขา) พร้อมแนวทางปรับปรุงแก้ไข
3. เพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดทำเอกสารเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คัดเลือกไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม (รายสาขา) จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์
4. ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความเข้าใจด้าน LCA และสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ของวัสดุพื้นฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (National LCI Database) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คัดเลือก 2 กลุ่ม (รายสาขา) เป้าหมาย
2. ผลประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรม 2 กลุ่ม (รายสาขา)เป้าหมาย พร้อมแนวทางปรับปรุงแก้ไขและการประยุกต์ใช้ เช่น การจัดทำเอกสารเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco Design) และการจัดทำเอกสารแสดงค่าผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Product Declaration / EPD) เป็นต้น
3. ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจด้าน LCA และสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
กลุ่มอุตสาหกรรม 2 กลุ่ม (รายสาขา) เป้าหมาย
1. รายสาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำตาล
– น้ำตาลทรายดิบ
– น้ำตาลทรายขาว
– น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
2. รายสาขากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรุงและส่วนประกอบอาหารที่ทำจากพืช
– ซอสมะเขือเทศ
– น้ำมันถั่วเหลือง
– พริกแกงมัสมั่น
ผู้ดำเนินการโครงการ
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หน่วยงานสนับสนุนโครงการ/งบประมาณ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม
เอกสารคู่มือ “LCI-LCA แนวปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ในอุตสาหกรรมอาหาร”
- LCI-LCA แนวปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายดิบ
- LCI-LCA แนวปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาว
- LCI-LCA แนวปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
- LCI-LCA แนวปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วเหลือง