โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม

ฟุตพริ้นท์ (Footprint)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม
หลักการและเหตุผล
ผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวคิดการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร(Carbon Footprint for Organization: CFOหรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรและคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับหน่วยงาน บริษัท หรือโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ
การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเป็นวิธีในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กรเพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก มีการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน และจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการพัฒนาระบบการรับรองและทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรของประเทศ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในประเทศไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน และจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กลุ่มเป้าหมาย
โรงงานอุตสาหกรรม
สมาชิกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม เช่น สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ขอบเขตการดำเนินงาน
- จัดสัมมนาเปิดตัวโครงการความร่วมมือทางเทคนิค
- รับสมัคร/คัดเลือกองค์กรนำร่อง (25 แห่ง)
- จัดพิธีเปิดโครงการและการลงนามในบันทึกความตกลงร่วม
- จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรขององค์กรนำร่อง
- ประเมินขนาดของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรนำร่อง (3 ครั้ง)
- จัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนำร่อง
- เตรียมความพร้อมของโรงงานเพื่อรับการทวนสอบจากหน่วยงานทวนสอบและแก้ไขข้อมูลตามผลการทวนสอบ
- จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. มีโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 25 แห่ง สามารถคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และนำผลไปใช้พัฒนาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน
2. สมาชิกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความรู้ความเข้าใจในด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
20 ธ.ค. 2555 ถึง 15 พ.ย. 2556
ผู้ดำเนินการโครงการ
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หน่วยงานสนับสนุนโครงการ/งบประมาณ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม
–